กรณีศึกษา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มีนาคม 9, 2016
สปาไทย: ลูกค้าอยากได้อะไร
พฤษภาคม 30, 2016

ภูเก็ตจะไม่ว้าว!?

 

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวลงเข้าสู่สภาพที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า New Normal (Low) คือ สถานภาพที่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจตกต่ำลงไปหมด เช่น GDP และการจ้างงาน แต่สภาพในธุรกิจท่องเที่ยวกลับสวนกระแสเป็น New Normal (High) และเป็นตัวจักรกลสำคัญของภาคเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังจะเข้ามาอีกมาก ตลอดหลายปีที่ผ่านมาความเจริญทางเศรษฐกิจของจีนขยายไปทุกมณฑล คนจีนเริ่มมีทรัพย์พอที่จะเปิดหูเปิดตาในต่างประเทศ จุดหมายแรกก็คืออาเซียน ซึ่งรับนักท่องเที่ยวจีนถึงหนึ่งในสี่จากทั้งหมดเกือบ 50 ล้านคน (ไม่นับคนจีนที่ไปเที่ยวฮ่องกง มาเก๊า อีกกว่าเท่าตัว) ในบรรดาประเทศอาเซียน ไทยก็เป็นสุดยอดความนิยม ขณะนี้จีนกำลังเร่งสร้างสนามบินในเมืองรอง ดังนั้น ก็จะยังมีคนจีนตามมาอีกมาก ภูเก็ตซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกรองจากกรุงเทพฯ และพัทยา ก็จะเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน

ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับที่ทุกคนต้องอุทานว่า “ว้าว” การจัดลำดับแนวโน้มตลาดการท่องเที่ยวของสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ในปี พ.ศ. 2557 พบว่า ภูเก็ตมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 12 ล้านคน เมื่อดูจากตัวชี้วัดอื่นๆ เช่น ขนาดเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจท่องเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านที่พักและอาหาร ภูเก็ตมาเป็นอันดับ 1 แต่ถ้ามาดูด้านศักยภาพการรองรับ โดยเฉพาะในส่วนของสาธารณูปโภค กำลังการผลิตน้ำประปา เป็นลำดับที่ 44 ของประเทศ โครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงทางบก เป็นลำดับที่ 65 ทรัพยากรมนุษย์เป็นลำดับที่ 37 ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมของภูเก็ตในภาพรวมอยู่ในลำดับที่ 39 เนื่องจากภูเก็ตมีขยะมากถึง 480 ตันต่อตารางกิโลเมตร จัดอยู่ในลำดับที่ 73 ของประเทศ ถึงแม้จะมีโรงกำจัดขยะแล้ว แต่ขยะที่ลงทะเลไปก็มีอีกมาก

13239418_10202063439265281_1055975692284969958_n

ยังไม่จบค่ะ ในด้านความปลอดภัย เมื่อดูสถิติอุบัติเหตุทางถนนต่อจำนวนประชากร และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน ภูเก็ตเป็นที่ 75 ของประเทศเท่ากันของทั้ง 2 ตัวชี้วัด นั่นคือ เกือบบ๊วยแล้ว คดียาเสพติดเป็นลำดับที่ 65 อัตราผู้ป่วยเอดส์ (ปี พ.ศ. 2554) เป็นลำดับที่ 73 อัตราเกิดโรคติดต่อ (ปี พ.ศ. 2556) เป็นลำดับที่ 72 ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์และอุปทานการท่องเที่ยวเริ่มขาดความสมดุลอย่างมาก  เมื่อมาดูสถิติอย่างนี้แล้ว ถามว่าภูเก็ตจะว้าวไหมในอนาคต คำตอบก็คือ น่าจะยากค่ะ ความหมายก็คือเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภูเก็ตเห็นทีจะไม่ยั่งยืน

การพัฒนาการท่องเที่ยวในภูเก็ตที่สนใจแต่การดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยไม่สนใจสภาพการรองรับเริ่มก่อให้เห็นปัญหาแล้ว เช่น การจราจรที่ติดขัด การบริการสล็อตเครื่องบินที่ไม่ได้ดุลยภาพกับห่วงโซ่อุปทานอื่นๆ การปล่อยให้มีโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่เสียภาษี ไม่จัดการน้ำเสีย ยิ่งตอนนี้นักลงทุนชาวจีนก็เข้ามาเต็มแล้ว มาซื้อคอนโดทำ Time Sharing โดยไม่ติดป้าย มาให้วงเงินธุรกิจต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถจ่ายเงินโดยใช้สมาร์ทโฟน ขณะนี้พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะทำให้เงินสะพัด แต่ในระยะยาวระบบ E-commerce ในจีนก็จะเข้ามาควบคุมธุรกิจท่องเที่ยวไทย ยิ่งรัฐบาลอยากได้ Cruise ขนาดใหญ่ก็ยิ่งไปกันใหญ่ Cruise ขนาดใหญ่ก็คือ โรงแรม 20 ชั้นลอยน้ำ มี Duty Free มีภัตตาคารบนเรือ ซึ่งรายจ่ายใหญ่ๆ จะตกอยู่ในกระเป๋าของ Cruise เพราะ Cruise จะไม่แวะค้างคืนบนเกาะ แล้วก็ยังนำเอาขยะและสิ่งปฏิกูลมาทิ้งไว้บนเกาะ คิดถึงคลื่น เมื่อ Cruise แล่นผ่านเรือเล็กเรือน้อยของเรา พวกเขาเหล่านั้นจะทำมาหากินอย่างไร ในที่สุดแล้วประเทศไทยกับคนภูเก็ตจะได้อะไรจากการท่องเที่ยวนอกจากขยะและความแออัด

การรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และเป็นนักท่องเที่ยวอิสระที่ไม่มาเป็นกรุ๊ปมาก มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีการเดินทางจะกระจายไม่เป็นกลุ่มใหญ่ หมายถึง ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการรองรับพื้นที่หลายๆ แห่ง พร้อมๆ กัน ยิ่งไปกว่านั้นนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่นี้ ยังมีพฤติกรรมต่างออกไปจากนักท่องเที่ยวยุโรป กล่าวคือ คนจีนนิยมการชิม แชะ ช็อป คล้ายๆ คนไทย แต่ก็ชอบทำกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยว เพราะมีสัดส่วนคนหนุ่มคนสาวสูง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจึงไม่ใช่การพัฒนาแต่ละแห่งอย่างเป็นเอกเทศอีกต่อไป ภูเก็ตจำเป็นต้องมีการดีไซน์ และวางแผนเมืองที่เป็นองค์รวมที่บูรณาการความต้องการตลอดห่วงโซ่อุปทาน จากสนามบินภูเก็ตจนถึงแหล่งท่องเที่ยว ไม่ใช่ว่ามีปัญหาจราจรก็แยกกันคิด แยกกันทำระหว่างทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ จึงขาดการเชื่อมโยงต่อกัน ภูเก็ตจะต้องมองภาพว่า อีก 5 – 10 ปีข้างหน้า หากมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวสัก 20 ล้านคน คนภูเก็ตจะอยู่กันอย่างไร น้ำประปาก็คงไม่พอใช้ นอกจากนั้น ในการวางแผนกายภาพเมือง ไม่ใช่จะระบุการใช้ที่ดินแบบผังเมืองเท่านั้น แต่จะต้องดีไซน์ให้แต่ละหาดมีเอกลักษณ์ มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรม สำหรับการการจอดรถ มี Landmark เช่น ประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ผู้มาเยือนจดจำได้ ต้องดีไซน์ระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อกับบรรยากาศท่องเที่ยวด้วย การทำแผนกายภาพเมืองภูเก็ตต้องใช้มืออาชีพ แต่ต้องมีส่วนร่วมจากประชาชน ประชาคมและผู้ประกอบการ โดยมีสัดส่วนกรรมการกำกับทิศทางฝ่ายละ 25%

ที่สำคัญอีกเรื่อง คือ ตัวเลขข้อมูลนักท่องเที่ยว ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการวางแผน ในการประชุมกับผู้ประกอบการที่ผ่านมา พบว่า  ผู้ประกอบการเห็นว่าตัวเลขทางการมักไม่ตรงกับความเป็นจริง ตัวเลขที่เพี้ยนไปจากความเป็นจริงไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุปสงค์ได้ ในปัจจุบันภูเก็ตมีอัตราการเข้าพักที่ 70% เท่านั้น ไม่ใช่ 90% เพราะจำนวนห้องที่มีอยู่จริงประมาณ 90,000 กว่าห้องไม่ใช่ประมาณ 50,000 ห้อง ตามที่ปรากฏเป็นทางการ อีกทั้งจำนวนสล็อตของเที่ยวบินที่เคยมีอยู่ประมาณ 200 กว่าเที่ยวต่อวัน ลดลงเหลือแค่ 136 เที่ยวต่อวัน ทำให้มีการยกเลิกห้องพักจำนวนมาก!

ยังไงๆ ก็ขอให้ท่านรัฐมนตรีกอบกาญจน์ลองมาดูเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เดี๋ยวตัวเลขจะไม่เข้าเป้านะคะ!

Comments are closed.