ผู้เขียน
อัครพงศ์ อั้นทอง
เศรษฐมิติเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ทดสอบทฤษฎีกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคม หรือเป็นเครื่องมือสำหรับการศึกษาเชิงประจักษ์ของนักเศรษฐศาสตร์ ด้วยความก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีทำให้การประยุกต์ใช้เศรษฐมิติในการศึกษาเชิงประจักษ์ทำได้สะดวกและง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การอธิบายและการตีความผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติต้องอาศัยความเข้าใจและความชำนาญในการวิจัยในสาขานั้นๆ ตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนมีโอกาสร่วมทำงานกับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้เขียนมีโอกาสเรียนรู้และประยุกต์ใช้เศรษฐมิติกับการวิจัยด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง กับการได้รับโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติม และทำงานร่วมกับคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญ ณ University of the Balearic Islands ประเทศสเปน ทำให้ผู้เขียนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เศรษฐมิติในการศึกษาทางด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นผู้เขียนจึงตัดสินใจแต่งตำราเรื่อง เศรษฐมิติว่าด้วยการท่องเที่ยว ที่เป็นการนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้เศรษฐมิติเพื่อศึกษาด้านการท่องเที่ยว เนื้อหาภายในตำราครอบคลุมเรื่องการตรวจสอบคุณลักษณะของข้อมูล การวิคราะห์ความเป็นฤดูกาลในแหล่งท่องเที่ยว การศึกษาอุปสงค์การท่องเที่ยวทั้งการประมาณค่าความยืดหยุ่นและการพยากรณ์ การประเมินผลกระทบของเหตุการณ์วิกฤตที่มีต่ออุปสงค์การท่องเที่ยว และการวัดประสิทธิภาพการจัดการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเนื้อหาในแต่ละบทมีการนำเสนอทั้งแนวคิดทางทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ รวมทั้งกรณีตัวอย่างการวิเคราะห์และการอธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากวิธีทางเศรษฐมิติตำราเล่มนี้เป็นผลผลิตของโครงการท่องเที่ยวไทย: จากนโยบายสู่รากหญ้า ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) ผู้เขียนขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่ให้โอกาสผู้เขียนเข้าร่วมโครงการนี้ เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้โครงการต่างๆ สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่าตำราเล่มนี้จะมีคุณประโยชน์ต่อนักศึกษาและผู้อ่านที่สนใจประยุกต์ใช้เศรษฐมิติในการศึกษาด้านการท่องเที่ยวจะได้ใช้เป็นแนวทางการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต หากมีข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดประการใดที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขอน้อมรับแต่เพียงผู้เดียว