บทความโดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ
ทุกวันนี้ เรามีการประชุมเรื่องเออีซี (AEC) ทั่วประเทศไม่เว้นแต่ละวัน ถามว่า ได้ข้อสรุปอะไรบ้าง คำตอบที่ตรงกันก็คือ เราต้องเพิ่มเติมทักษะด้านภาษาอังกฤษ คำตอบนี้ที่จริงไม่ต้องประชุมกันเลยก็รู้กันดีอยู่แล้ว ภาษาอังกฤษของคน ไทยแทบจะนับได้ว่าอ่อนที่สุดในอาเซียน (ASEAN) ที่จริงถ้าสรุปได้แค่นี้ น่าจะดีกว่าถ้าเอาเงินงบประมาณที่จัดประชุมไปแจกเงินให้ทั้งคนจัดและคนที่เข้าร่วมประชุม นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องเรียนภาษาอังกฤษให้ใช้การได้ ทำไมถึงแจกให้คนที่เข้าร่วมประชุม ก็เพราะพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่สนใจเออีซี (ถึงแม้จะมีบางคนมาประชุมเพราะที่ทำงานไม่มอบหมายงานอะไรให้ทำก็ตาม)
ที่จริงประเทศในอาเซียนได้เปิดเสรีการค้า บริการและการลงทุนอย่างเป็นขั้นตอนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว การเปิดเสรีใน 3 ปีข้างหน้าที่เห็นว่าใหม่ น่าจะเป็นการเปิดเสรีให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงและแรงงานวิชาชีพขั้นสูง เช่น แพทย์ นางพยาบาล ผู้เขียนอยากจะขอยกบริการด้านสุขภาพขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพราะเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีของการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพและทักษะสูงโดยตรง
การให้บริการสุขภาพให้แก่ชาวต่างประเทศในขณะนี้ มักจะรู้จักกันในนามของ เมดิคัล ทูริสซึ่ม (Medical tourism) หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีคำนิยามว่า หมายถึง ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมารับบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ แต่คำนิยามนี้ แคบไปแล้วสำหรับโลกไร้พรมแดนในยุคนี้ เพราะไม่ใช่คนเท่านั้นที่เดินทาง ข้อมูลสุขภาพก็เดินทางได้ ยาวัคซีน ฯลฯ ต่างก็เดินทางได้ทั้งนั้น แม้แต่ตัวผู้ให้บริการเองก็เดินทางได้ เช่น เฮลิคอปเตอร์พาแพทย์ไปให้การรักษาคนไข้ที่พักอยู่บนเกาะ การให้บริการสุขภาพจึงไม่ใช่แค่คอยคนไข้มารับบริการ ถึงแม้ว่าการเดินทางของคนไข้จะเป็นสัดส่วนกลุ่มก้อนที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้ก็ตาม เมื่อมีเออีซีเราต้องขยายการมองภาพสินค้าและบริการใหม่ให้กว้างขึ้น