ผู้เรียบเรียง ยุวดี คาดการณ์ไกล
บรรณาธิการ ยุวดี คาดการณ์ไกล
ผู้ช่วยบรรณาธิการ ปิยะภรณ์ วรประโยชน์
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า หากอุตสาหกรรมขาดการจัดการที่ดี ย่อมก่อให้เกิดมลพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ดังบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ดังกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมบริเวณมาบตาพุดการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา อาจสังเกตได้ว่าภาครัฐสร้างกลไกรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมากมาย แต่กลไกการจัดการสิ่งแวดล้อมกลับไม่ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็งเท่าที่ควร อีกทั้งยังขาดการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ จะเห็นว่ากลไกการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มักนำมาใช้ คือการควบคุมและกำกับโดยการออกกฎหมายบังคับหรือการกำหนดให้ปล่อยมลพิษได้ในระดับเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังมีกลไกอีกประเภทหนึ่งที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมและสามารถใช้ควบคู่กันคือ มาตรการสร้างแรงจูงใจให้ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่หลายประเทศได้ประยุกต์ใช้นานแล้ว โดยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ก่อมลพิษ นั่นคือผู้ประกอบการยอมลงทุนเพื่อการบำบัดของเสียหรือมลพิษก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันจึงมีความพยายามจากหลายฝ่ายเสนอให้มีการตรากฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อมขึ้นใช้ในประเทศไทย